ประวัติความเป็นมา
เป็นพิธีกรรมของศาสนา พราหมณ์ที่มีสอดแทรกเข้ามาปะปนในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และบูชาพระรัตนตรัยอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ผู้ตาย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ เป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือน ๑๐ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี และได้รับการฟื้นฟูครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมาละเว้นเลิกรา ไปในสมัยรัชกาล ที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ แล้วมาได้รับการฟื้นฟู อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา แต่ในปัจจุบันนี้
ส่วนใหญ่จะจัดกันในเดือน ๑๒ บางแห่งก็เดือนหนึ่ง ซึ่งคงจะถือเอาระยะที่ข้าวกล้า ในท้องนามีรวงขาวเป็นน้ำนม ของแต่ละปี และชาวบ้านก็มีความพร้อมเพรียงกัน ในจังหวัดสิงห์บุรีบริเวณที่ยังคงรักษาประเพณีกวน ข้าวทิพย์ มีเหลืออยู่เพียง ๓ หมู่บ้าน คือหมู่บ้านพัฒนา โภคาภิวัฒน์ หมู่บ้านวัดกุฎีทอง หมู่บ้านในอำเภอพรหมบุรี ยังคงรูปเค้าโครง ของการรักษาประเพณี และมีความเชื่อถือ อย่างมั่นคง เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งแฝงด้วยจริยธรรมและคติธรรมอยู่มาก ที่สมควรนำมากล่าวถึงคือ ความพร้อมเพรียงของ ชาวบ้านทั้งที่ทำนา และไม่ได้ทำนาถึงเวลาก็มาร่วมจัดทำและ ช่วยเหลือโดยยึดถือ ความสามัคคีเป็นหลัก
ขั้นตอนการปฏิบัติหรือจัดพิธีกรรม
เป็นพิธีที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนมาก ต้องมีการตระเตรียมข้าวของต่างๆ จำนวนมาก อาทิ นม เนย ข้าวตอก น้ำนม น้ำอ้อย น้ำผึ้ง มะพร้าว งา ถั่วต่างๆแต่สิ่งของเครื่องปรุงข้าวทิพย์ ได้เลือก คงไว้ ๙ สิ่ง คือ ถั่ว , งา , นม , น้ำตาล , น้ำผึ้ง , น้ำอ้อย เนย และน้ำนมที่คั้นจากรวงข้าวและยังคงรักษารูปเดิมไว้ โดยมีพราหมณ์ เข้าพิธี มีสาวพรหมจารีซึ่งจะพิถีพิถันคัดเลือกจากหญิงสาว ที่ยังไม่มีดอกไม้ (ระดู) ด้วยต้องการบริสุทธิ์สำหรับสาว พรหมจารีที่จะเข้าร่วมพิธี ต้องสมาทานศีล ๘ และต้องถือ ปฏิบัติตามองค์ศีลอย่างมั่นคง แม้ที่พักก็จัดให้อยู่ส่วนหนึ่ง จนกระทั่งถึงเวลาถวายข้าวทิพย์แก่ พระสงฆ์ ในตอนเช้าจึง จะหมดหน้าที่วัตถุที่กวน ได้แก่ น้ำนมโคสด (ปัจจุบันใช้นมข้นหวานแทน) น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ชะเอมเทศ น้ำตาลกรวด น้ำตาลหม้อ ข้าวตอก ข้าวเม่า ธัญพืชต่าง ๆ ที่คั่วสุก ถั่ว งา ลูกเดือย เมล็ดแตง เผือกมัน เมล็ดบัว มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน ผลไม้สด ผลไม้แห้ง เช่น มะม่วง กล้วย ทุเรียน ละมุด ลำไย ส้ม ขนุน เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมเท่าที่จะหาได้หรือปรับปรุงให้มีรสชาติหอมหวานอร่อย ตามความต้องการของผู้กวนในแต่ละท้องถิ่น บางท้องที่อาจใช้ผลไม้ชนิดต่างๆ ที่มีการจัดเตรียมการในพิธีกวนข้าวทิพย์ต้องจัดเตรียมสิ่งสำคัญดังนี้ -ต้องปลูกโรงพิธีขึ้น ๑ หลัง ให้กว้างใหญ่พอสมควร เพื่อตั้งโต๊ะบูชาพระพุทธรูป อาสน์สงฆ์
โต๊ะบูชาเทวรูป และที่ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธี คือ พราหมณ์ โหร (ผู้ที่มีความรู้ในพิธีกรรมอย่างดี) เทพยดา นางฟ้า นางสุชาดา สาวพรหมจารี และทายก ทายิกา ฯลฯ นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และก่อเตาตั้งกะทะกวนภายในโรงพิธี จัดหาพายสำหรับกวนกะทะละ ๓ เล่ม จัดหาฟืนให้เพียงพอและตากให้แห้งสนิท โรงพิธีทาสีขาว เครื่องประดับตกแต่งควรใช้เครื่องขาว ตั้งราชวัฏ ฉัตร ธง ผูกต้นกล้วย อ้อย ทั้ง ๔ มุม หรือครบ ๘ ทิศยิ่งดี แล้วยกศาลเพียงตาขึ้นไว้ในทิศที่เป็นศรีของวัน คือ ทิศที่เทวดาสถิตในวันกวน ตั้งเครื่องสังเวย คือ หัวหมู บายศรี เป็ด ไก่ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว มะพร้าวอ่อน กล้วย และมีการจัดที่นั่ง การให้โหร นั่ง ๑ ที่ และจัดให้เทวดาและนางฟ้านั่งเรียงแถวหน้ากระดานดังนี้
แถวที่ ๑ จัดให้ท้าวมหาพรหมกับพระอินทร์นั่งข้างหน้า
แถวที่ ๒ มหาราชทั้งสี่
แถวที่ ๓ นางฟ้า
แถวที่ ๔ นางสุชาดา นั่งข้างหน้าสาวพรหมจารี
– จัดเตรียมตะลอมพอก หรือยอดเทวดา ๖ ยอด ที่สมมติว่าเป็นท้าวมหาพรหม พระอินทร์ (ท้าวสักกะ) ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ ท้าวเวสวัณ มงกุฎนางฟ้า ๔ และมงคลสวมศีรษะ สาวพรหมจารี ใช้มงคลด้ายแบบมงคล ตัดจุก หรือใช้ดอกมะลิร้อยให้เป็นวงกลม เรียก มงคลดอกไม้ ให้ครบจำนวนเตาละ ๒ คน สมมติว่าเป็นบริวารของนางสุชาดา
ศาสนพิธี
จัดที่บูชา ๒ ที่ คือ
๑. โต๊ะบูชาพระพุทธรูปหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หรือทิศเหนือ ถ้าสถานที่ไม่อำนวย มีไม้ มหาโพธิ์ใส่กระถางตั้งไว้ด้านหลังพระพุทธรูป ส่วนประกอบอื่นเหมือน การจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาทั่วไป
๒. โต๊ะบูชาเทวรูป มีพระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ เป็นต้น สุดแต่จะหาได้ พระฤาษี ๕ ตน ถ้าหายากก็ต้องให้ได้อย่างน้อย ๑ ตน สมมติเป็นฤาษีกไลยโกฏ มีเครื่องบูชาเช่นเดียวกัน จัดตั้งอาสนะสงฆ์ ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป ให้สูงกว่าพื้นที่ สัปบุรุษทายก ทายิกา และผู้เข้าร่วมพิธีนั่ง
อุปกรณ์ในการกวน ข้าวทิพย์ ประกอบด้วย
๑. เตา ทําจากถังน้ำมันขนาด ๕๐๐ ลิตร นํามาตัดให้มีความสูงประมาณ ๒ ฟุต
๒. กระทะใบบัว
๓. พายไม้
อุปกรณ์ในการปรุง ประกอบด้วย
๑. ข้าว ใช้แป้งข้าวเหนียว และแป้งข้าวเจ้า
๒. ถั่วลิสง
๓. งาดํา งาขาว
๔. น้ำผึ้ง
๕. น้ำตาลทราย
๖. นมข้นหวาน
๗. มะพร้าว คั้นเอาแต่กะทิ
๘. เนย
ส่วนผสมที่ต้องเตรียมก่อนวันประกอบพิธีในกวนข้าวทิพย์
๑. ถั่วลิสง คั่วให้เหลือง มีกลิ่นหอม หลังจากนั้นนํามาทําการกะเทาะเปลือกทิ้ง นําไปเข้าเครื่องบด
๒. งาขาวและงาดํา คั่วให้เหลือง มีกลิ่นหอม ทิ้งไว้ให้เย็นนําไปใส่ครกตําให้ละเอียด
๓. มะพร้าว นําไปปลอกเปลือกกะเทาะกะลาทิ้ง เอาแต่เนื้อมะพร้าว จะนํามาใส่เครื่องขูดมะพร้าว ในตอนเช้ามืดของวันที่จะประกอบพิธี เพื่อให้ได้กะทิสดมีกลิ่นหอม เครื่องปรุงที่เป็นส่วนประกอบดังกล่าวข้างต้น นําใส่หม้อปิดฝาให้เรียบร้อย เตรียมที่จะประกอบพิธี กวนในวันรุ่งขึ้น (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖)
ขั้นตอนการดำเนินการกวนข้าวทิพย์
ช่วงเช้าชาวบ้านมาร่วมทําบุญตักบาตรที่ศาลาวัด หลังจากนั้นจึงมาเริ่มพิธีกวนข้าวทิพย์ โดยมีรายละเอียดขั้นตอนดังนี้
๑.นําเครื่องปรุงเตรียมไว้ทุกอย่างเทใส่กระทะใบบัวคนให้เข้ากัน ไม่มีสูตรในการกําหนดอัตราส่วนของเครื่องที่แน่นอน จํานวนข้าวทิพย์จะมากน้อยขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่มี ดังนั้น รสชาติในแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน
๒. ก่อนเริ่มกวนข้าวทิพย์พระสงฆ์จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยพระสงฆ์จะเป็นผู้ทําพิธีบูชาพระรัตนตรัยจากนั้นสวดเจริญพระพุทธมนต์ธัมมจักรกัปปวัตนสูตร
๓. สาวพรหมจรรย์ จำนวน ๔ – ๕ คนนุ่งขาวห่มขาว เริ่มกวนข้าวทิพย์ เมื่อพระสงฆ์ เจริญพระพุทธมนตร์จบนักเรียนก็จะเปลี่ยนให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมเป็นผู้กวนต่อไปจนกว่าจะเสร็จ ใช้เวลากวนประมาณ ๓ ชั่วโมงเมื่อเสร็จแล้ว ก็จะแบ่งปันข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาส ไปรับประทาน ถือว่าเป็นของดี ก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตน และนําไปฝากบุคคลในครอบครัว หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือ ก่อนกลับบ้านทุกคนช่วยกันเก็บอุปกรณ์ ล้างทําความสะอาด จัดเก็บสถานที่ให้เรียบร้อย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะชาวบ้าน ซึ่งน่าจะต้องร่วมกันอนุรักษ์ สืบทอดประเพณีอันทรงคุณค่าอยู่คู่กับชาวลานกระบือสืบไป